Interview of an Alumni
“นพพล คบหมู่ จบปริญญาเอกด้านนิเวศวิทยาและชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการ ขณะนี้เป็นนักวิจัยอยู่ที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือไบโอเทค ภายใต้สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเทศไทย
ตอนที่เลือกไปเรียนที่ฝรั่งเศสในตอนแรกนั้นก็ไม่ค่อยรู้จักประเทศนี้ซักเท่าไหร่ ในตอน ม.6 ตัดสินใจสอบชิงทุน ก.พ. เพื่อไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะตอนนั้นมีความรู้สึกว่าอยากเปิดโลกทัศน์ตัวเอง อยากพบเจอวัฒนธรรมใหม่ ผู้คนใหม่ๆ และประเทศฝรั่งเศสก็เป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่เลือกที่จะไปศึกษาในตอนนั้น ถ้าพูดกันตามตรง ประเทศฝรั่งเศสไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกๆ ด้วยซ้ำ เพราะก็เหมือนกับเด็กคนอื่นทั่วๆไปที่มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์ก็จะสนใจประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษก่อนอย่างอเมริกาหรืออังกฤษ แต่อาจจะเป็นเพราะโชคชะตาที่ประเทศที่ผมเลือกไว้อันดับต้นคืออเมริกา อังกฤษ นั้นถูกนักเรียนทุนคนอื่นที่คะแนนสอบดีกว่าเลือกไปก่อน ในท้ายที่สุดตัวผมเลยได้ถูกส่งไปเรียนที่ฝรั่งเศส ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ตัวเลือกแรก แต่ก็ไม่เคยรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ไปที่ประเทศอื่น และการเรียนที่ฝรั่งเศสก็เป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต
ในตอนแรกนั้นก็กลัวนิดหน่อย เพราะเป็นครั้งแรกที่จะจากบ้านไปไกลขนาดนั้น ภาษาก็พูดไม่ได้ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ความอยากรู้อยากเห็นและต้องการเรียนรู้มันมีพลังมากกว่า การได้ไปเริ่มต้นใช้ชีวิตในที่ๆวัฒนธรรมต่างจากเรา เรียนภาษาใหม่เพื่อใช้ชีวิตในช่วงวัยอุดมศึกษา มันเหมือนเป็นการสร้างตัวตนใหม่ชุดใหม่ของเราขึ้นมา
ผมได้เรียน ตรี โท เอก ที่ Montpellier เป็นเมืองขนาดกลาง แต่ก็มีพร้อมทุกอย่าง ผมคิดว่าเป็นเมืองที่สวยทีเดียว ผมมีความสุขกับการใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองนี้ค่อนข้างมาก เพราะเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเรื่องการศึกษาเมืองหนึ่งของฝรั่งเศส ทำให้ได้มีโอกาสพบเจอกับคนวัยเดียวกันจากหลากหลายท้องถิ่นของฝรั่งเศส และจากหลากหลายประเทศทั่วโลกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีความเป็นศิลปินสูงอยู่ทีเดียว เพราะจะมีเทศกาลทางศิลปะวัฒนธรรมอยู่เรื่อยๆ
สิ่งที่ได้จากการเรียนที่ฝรั่งเศส นอกจากความรู้แล้ว ก็คือประสบการณ์ชีวิต การเรียนรู้ที่จะต้องตัดสินใจในทางเลือกของชีวิตหลายๆ อย่าง การรู้จักดูแลบริหารจัดการตัวเองซึ่งมันช่วยหล่อหลอมให้เราโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ จริงๆ แล้วมันคงจะไม่ใช่สิ่งที่เฉพาะเจาะจงกับการเรียนในฝรั่งเศสเท่านั้น แต่เป็นประสบการณ์ที่หลายคนที่เรียนต่อต่างประเทศคงต้องประสบเจอเหมือนกัน แต่สิ่งที่คิดว่าเป็นประสบการณ์ที่เฉพาะเจาะจงกับฝรั่งเศสคงจะเป็นเรื่องของการได้เรียนรู้วัฒนธรรมฝรั่งเศส โดยเฉพาะมุมมองที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมกันและสิทธิมนุษยชน ซึ่งมันช่วยทำให้เรามองเห็นโครงสร้างในการทำงานของเราบางอย่างซึ่งอาจจะยังไม่ดีหรือมีความยุติธรรมกับทุกฝ่ายมากพอ มันช่วยให้เราวิเคราะห์ได้ดีขึ้นถึงที่มาของปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์แล้ว คิดว่าสิ่งที่ฝรั่งเศสให้ผมมากที่สุดคือวิสัยทัศน์ของการทำงานวิจัยเชิงพื้นฐาน ซึ่งช่วยให้เรามองโจทย์วิจัยต่างๆ ได้กว้างขวางขึ้น
จุดเด่นที่ชัดเจนที่สุดในการทำวิจัยที่ฝรั่งเศส น่าจะเป็นการที่งานวิจัยได้ใกล้ชิดกับนักเรียนในระดับอุดมศึกษาอย่างมาก และมันก็ช่วยฟอร์มนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพออกมาได้ตลอด ศูนย์วิจัยของรัฐส่วนใหญ่จะกระจุกตัวใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และโครงสร้างการจัดการต่างๆ ทำให้การถ่ายโอนความรู้จากแล็บสู่ห้องเรียนเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ที่ฝรั่งเศสจะมีหน่วยวิจัยแบบที่เราเรียกว่า Unité Mixte de Recherche หรือหน่วยวิจัยผสมเยอะมาก ผสมนี้หมายถึงการจับเอาคนจากหน่วยงานต่างกันมาทำงานในที่เดียวกัน อย่างเช่นในมหาวิทยาลัยก็จะมีหน่วยวิจัยที่นำนักวิจัยจากสถาบันอื่นของรัฐเข้ามาทำงาน โดยไม่มีหน้าที่สอน แต่มันก็จะทำให้นักวิจัยเหล่านี้ได้รับเชิญไปเล็คเชอร์หรือร่วมวางหลักสูตรให้กับมหาลัยได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งผมมองว่ามันช่วยยกระดับการศึกษาและทำให้หลักสูตรนั้นทันสมัยอยู่ตลอด
ทุนวิจัย Marie-Curie นี้ผมได้ยินชื่อและรู้จักมาตั้งแต่ช่วงเรียนปริญญาโทที่ฝรั่งเศสแล้ว ในสมัยที่ทำวิทยานิพนธ์ สถาบันที่ทำงานด้วยก็มีนักวิจัยจากประเทศอื่นที่มาทำวิจัยภายใต้ทุน Marie-Curie นอกจากนี้หลังจากกลับมาจากทำงานแล้ว ที่ สวทช. ก็ยังมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับทุนวิจัยจากที่ต่างๆ โดยตลอด และทุน Marie-Curie ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน ก่อนที่จะเริ่มสมัครนั้น เราต้องหา partner ในการทำวิจัยของเราให้ได้ก่อน เราต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเราต้องการทำงานวิจัยเรื่องไหน แล้วใครและที่ไหนในสหภาพยุโรปบ้างที่มีศักยภาพสูงพอที่จะผลักดันให้งานวิจัยนั้นเป็นจริงได้ เมื่อเราเจอ partner ที่เหมาะสมแล้ว เราก็ต้องคุยตกลงกันเพื่อที่ช่วยกันร่างข้อเสนอโครงการ ทุน Marie-Curie จะประกาศรับสมัครในช่วง มีนา-เมษายน และจะปิดรับสมัครในช่วงกรกฎา-สิงหา เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม หา partner ให้ได้ และมีไอเดียวิจัยชัดเจนแล้ว เพื่อที่จะร่างมัน แก้ไข และส่งได้ทันเวลา
หากสนใจมาเรียนที่ฝรั่งเศส อยากให้ทุกคนเปิดความคิดตัวเองไว้กว้างๆ ว่าเราจะมาเจอสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจจะมีทั้งสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นประโยชน์เพราะจะช่วยให้เราได้ประสบการณ์ซึ่งหล่อหลอมเรา นอกจากนี้ก็คือให้ตั้งใจเรียนภาษาให้มากๆ ครับ เพราะมันจะเป็นประโยชน์ทั้งในการเข้าสังคมและการเรียน”
Commentaires
Vous devez être connecté pour laisser un commentaire. Connectez-vous.